ริดสีดวงทวารหนัก
ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักด้วย ปัจจุบันเชื่อว่ามีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร เช่น ภาวะท้องผูก และการเบ่งอุจจาระนานๆ เป็นต้น สำหรับการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย อาหารรสจัด หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นอาการของริดสีดวงทวารให้มากขึ้นได้ ริดสีดวงทวารแบ่งตามตำแหน่งออกเป็น 2 ชนิด คือ •  ริดสีดวงทวารชนิดภายนอก (External Hemorrhoids) •  ริดสีดวงทวารชนิดภายใน (Internal Hemorrhoids) สำหรับริดสีดวงทวารชนิดภายในนี้ ยังแบ่งย่อยออกเป็น 4 ระยะ ตามความรุนแรงของโรค ได้แก่ •  ระยะที่ 1 ริดสีดวงทวารที่มีเลือดออกแต่ไม่มีก้อนยื่น •  ระยะที่ 2 ริดสีดวงทวารที่ยื่นพ้นปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระและสามารถหดกลับเข้าที่ได้เอง •  ระยะที่ 3 ริดสีดวงทวารที่ยื่นพ้นปากทวารหนักขณะเบ่งถ่ายอุจจาระและจะกลับเข้าที่ได้โดยต้องใช้นิ้วดันกลับ •  ระยะที่ 4 ริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมาตลอดเวลาไม่สามารถดันกลับเข้าที่ได้หรือมีภาวะการเกิดลิ่มเลือดเฉียบพลันหรือมีการยื่นของเยื่อบุช่องทวารหนักออกมาทั้งหมดริดสีดวงทวารภายในและภายนอกจะเกิดร่วมกันได้บ่อยครั้งการดูแลรักษาพิจารณาจากชนิดและความรุนแรงของโรคทั้งนี้การรักษามุ่งเพื่อบรรเทาอาการ และไม่จำเป็นต้องขจัดหัวริดสีดวงทวารที่มีอยู่ทั้งหมด ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดริดสีดวงทวาร •  ท้องผูก การนั่งแช่นานๆ รวมทั้งนั่งถ่ายอุจจาระนานๆ ทำให้ต้องเบ่งอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะเพิ่มความดันและหรือการบาดเจ็บในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพองหรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย •  ท้องเสียเรื้อรัง การอุจจาระบ่อยๆ จะเพิ่มความดันหรือการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดเช่นกัน •  อายุ ผู้สูงอายุจะมีการเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆ รอบหลอดเลือดรวมทั้งของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด หลอดเลือดจึงโป่งพองได้ง่าย •  การตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดจึงเกิดหลอดเลือดบวมพองได้ง่าย •  โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ส่งผลให้เพิ่มแรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานสูงขึ้น เช่นเดียวกับในหญิงตั้งครรภ์ •  การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จึงเกิดการกดเบียดทับบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้เรื้อรัง จึงมีเลือดคั่งในหลอดเลือดเกิดโป่งพองได้ง่าย •  โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด (Valve) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือดจึงเกิดภาวะเลือดคั่งในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองง่าย •  อาจเกิดจากพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงกว่าเมื่อครอบครัวมีประวัติเป็นโรคริดสีดวงทวาร อาการของโรคริดสีดวงทวาร •  มีก้อนเนื้อปลิ้นจากภายในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระและยุบกลับเข้าไปเมื่อหยุดเบ่งเมื่อเป็นมากต้องดันจึงจะกลับเข้าไปและขั้นสุดท้ายอาจย้อยอยู่ภายนอกตลอดเวลา •  มีเลือดแดงสดหยดออกมา หรือพุ่งออกมาขณะเบ่งถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระจำนวนแต่ละครั้งไม่มากนัก ไม่มีอาการปวด หรือแสบขอบทวาร หรือพบเลือดบนกระดาษชำระเลือดที่ออกจะไม่ปนกับอุจจาระไม่มีมูกและมักหยุดได้เอง อาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ •  เมื่อเป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมากรวมทั้งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบหลอดเลือดจะบวมออกมาถึงปากทวารหนักเห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ปลิ้นโผล่ออกมานอกทวารหนัก ซึ่งในภาวะเช่นนี้จะก่ออาการเจ็บปวดได้ นอกจากอาการดังกล่าวแล้วผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการคันรอบทวารหนัก •  อาจจะมาด้วยอาการมีมูกหลังจากถ่ายอุจาระ เมื่อมีลิ่มเลือดเกิดในริดสีดวงที่โป่งพองจะก่ออาการปวด เจ็บ บวม และก่ออาการระคายเคืองบริเวณรอบปากทวารหนัก และอาการคันแต่มักไม่ค่อยพบมีเลือดออกจากติ่งเนื้อนี้ การวินิจฉัยริดสีดวงทวาร หลักการวินิจฉัยที่สำคัญคือ การแยกโรคออกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก •  ตรวจดูขอบทวารหนัก ส่วนใหญ่จะปกติหรืออาจเห็นริดสีดวงทวารหนักยื่นออกมา •  การตรวจทวารหนักด้วยนิ้วมือ (PR) ไม่ช่วยวินิจฉัยริดสีดวงทวารหนัก แต่ช่วยตรวจแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายริดสีดวงทวารหนักโดยเฉพาะก้อนหรือแผลบริเวณทวารหนักหรือภายใน Rectum •  การตรวจด้วยส่องดูทวารหนัก Anoscope จะตรวจพบหัวริดสีดวงภายในได้ชัดเจนควรทำเสมอเพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน •  การตรวจด้วยส่องด้วยกล้อง Sigmoidoscope ควรทำในรายที่มีอายุมาก และจำเป็นต้องทำถ้ามีประวัติขับถ่ายผิดปกติเรื้อรังหรือถ่ายเป็นมูก ปนเลือด หรือคลำก้อนได้ภายในทวารหนัก •  การส่งตรวจด้วยสวนสี X-ray ลำไส้ใหญ่ Barium Enema หรือการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ Colonoscopy ใช้ตรวจในกรณีทีอาการไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไรหรือมีอาการอื่นๆ รวมทั้งตรวจในผู้ป่วยสูงอายุ •  การตรวจร่างกายตามปกติ การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นโดยสามารถแยกความรุนแรงของโรคได้เป็นระยะต่างกันคือ •  ระยะที่ 1 รักษาโดยการรับประทานยาระบายอ่อนๆ ยาลดการบวมของกลุ่มหลอดเลือดและระวังไม่ให้ท้องผูกก็เพียงพอแล้ว •  ระยะที่ 2 รักษาได้หลายวิธีเช่น      –  ใช้ยาเหมือนการรักษาในระยะที่ 1 แล้วระวังไม่ให้ท้องผูกก็มีอาการดีขึ้นได้ แต่ก็อาจมีอาการเป็นๆ หายๆ ในบางราย      –  ใช้ยางรัดหัวริดสีดวงทวารที่อยู่ภายในหรือใช้ยาฉีดที่บริเวณหัวริดสีดวงทวาร วัตถุประสงค์เพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อลงไป •  ระยะที่ 3 และ 4 รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดรักษามี 2 วิธีคือ      –  การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบเดิม      –  การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (STAPLE HEMORHOIDECTOMY) ข้อเปรียบเทียบของการผ่าตัดริดสีดวงทวารทั้ง 2 วิธี หลักการของการผ่าตัดรักษาโรคริดสีดวงทวารคือเอาหลอดเลือดริดสีดวงทวารที่โป่งพองออกแต่การผ่าตัดแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีและข้อด้อยต่างกันดังนั้นการจะเลือกวิธีใดในการผ่าตัดรักษาจะขึ้นกับการตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนแล้วจึงค่อยพิจารณาว่าจะใช้วิธีใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบเดิมริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoids) •  ข้อดี เป็นการผ่าตัดแบบเดิมที่ทำกันมานานหลายสิบปีสามารถผ่าตัดริดสีดวงทวารได้ทุกแบบ รวมทั้งสามารถใช้ผ่าตัดโรคแทรกซ้อนของริดสีดวงทวารได้ริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoids) •  ข้อเสีย เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ต้องมีแผลผ่าตัดผ่านตำแหน่งของหูรูดดังนั้นหลังการผ่าตัดจะมีความเจ็บปวดแผลมาก ต้องทำแผลและแช่ก้นหลังผ่าตัดจนกว่าแผลจะหายจึงทำให้กลับไปทำงานตามปกติได้ช้าและถ้าขณะทำผ่าตัดได้ตัดเลาะหัวริดสีดวงทวารลึกเกินไปอาจทำให้หูรูดทำงานได้ไม่ปกติ ทำให้มีปัญหาในการกลั้นอุจจาระเกิดขึ้นได้และในบางรายอาจเกิดแผลเป็นที่ตำแหน่งของหูรูดทำให้รูทวารตีบลงซึ่งทำให้มีการกายอุจจาระลำบากตามมาและใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดนานกว่า การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (STAPLE HEMORRHOIDOPEXY) ริดสีดวงทวารหนัก (Hemorrhoids) •  ข้อดี เนื่องจากการผ่าตัดวิธีนี้เป็นการผ่าตัดเข้าไปด้านในของทวารหนักบริเวณที่อยู่สูงกว่าหูรูดขึ้นไป ซึ่งบริเวณนี้ไม่มีประสาทรับความเจ็บปวดมาเลี้ยงจึงไม่มีอาการปวดแผลหลังการผ่าตัดและแผลผ่าตัดจะอยู่ด้านในของทวารหนักจึงไม่ต้องทำแผลและแช่ก้นหลังการผ่าตัดทำให้ใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดน้อยสามารถกลับไปทำงานตามปกติได้เร็ว การผ่าตัดทำได้ง่ายสามารถทำผ่าตัดตอนเช้าและกลับบ้านได้ในตอนเย็นหรืออาจนอนโรงพยาบาล เพื่อดูอาการหลังผ่าตัดเพียง 1 คืนก็เพียงพอเนื่องจากการผ่าตัดวิธีนี้บริเวณผ่าตัดจะอยู่สูงกว่าหูรูดจึงไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อหูรูด ทำให้ไม่มีปัญหาในการกลั้นอุจจาระ •  ข้อเสีย เนื่องจากการผ่าตัดวิธีนี้เป็นการทำผ่าตัดที่ด้านในของทวารหนักเพื่อหลีกเลี่ยงความ เจ็บปวด จึงสามารถใช้ในการรักษาริดสีดวงทวารภายในได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาริดสีดวงทวารภายนอกได้และการผ่าตัดวิธีนี้ไม่สามารถใช้รักษาโรคแทรกซ้อนของริดสีดวงทวารได้และแม้ว่าการผ่าตัดวิธีนี้จะไม่เจ็บ แต่จะมีความรู้สึกตึงและถ่วงในทวารหนักคล้ายกับจะถ่าย แต่ถ่ายไม่ออกซึ่งจะมีอาการเช่นนี้อยู่ประมาณ 1-2 วันก็จะหายเป็นปกติ นอกจากนี้การผ่าตัดด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัตินั้นจะต้องใช้เครื่องมือพิเศษช่วยในการผ่าตัดดังนั้นค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดจึงมากกว่าการผ่าตัดแบบเดิม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : โรงพยาบาลกรุงเทพเพชรบุรี โทร. 032-897-888